ดอกเอื้องแซะ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dendrobium scabrilingue Lindl. ชื่อวงศ์ : ORCHIDACEAE ชื่ออื่นๆ : เอื้องแซะหลวง เอื้องแซะหอม ลักษณะ : กล้วยไม้อิงอาศัย ลำลูกกล้วยมีขนสั้นละเอียดสีดำปกคลุม ใบ รูปรี กว้าง 1.5-2.5 ซม. ยาว 5-6 ดอก ออกเดี่ยว หรือเป็นช่อสั้นๆ 1-3 ดอก ออกตามข้อใกล้ปลายยอด ขนาดบานเต็มที่กว้าง 2.5-3 ซม. มีกลิ่นหอมแรง กลีบเลี้ยงและกลีบดอกสีขาว หรืออมเขียวอ่อน กลีบปากสีจะเข้มขึ้น จากสีเหลืองแกมเขียวเปลี่ยนจนเป็นสีเหลืองส้ม หูกลีบปากตั้งขึ้น และมีลายสีเขียว ตำนานของดอกเอื้องแซะ ดอกเอื้องแซะสัญลักษณ์แห่งความมานะพยายามของคนล้านนา กลีบขาวนวล กลิ่นเย้ายวน ชวนใฝ่ฝันเมินมา แซมผมงาม นามนั้นฤา คือเอื้องแซะหลวง บวงสรวงเทวา... ในป่าดงลึกหน้าผาจื้น “เอื้องแซะ” ขาวหอม อยู่สูงสุดสอยแหงนคอตั้งบ่า สองฟากผาจื้นรื่นด้วยตะไคร่และไคร่ผา ต่ำลงมาเป็นน้ำตกหลั่นครืนครั่นโครมครึก เหมือนเสียง จ้างฮ้อง ฝอยน้ำฟองกระจายพรายกล๋ายเป็นรุ้ง เอื้องแซะกลิ่นฟุ้ง เสียแต่อยู่สูงสุดสอยบ่ได้มีเรื่องเล่าขานเป๋นต๋ำนานของคนหนุ่มคนสาว ที่เฝ้าบ่มฮักและอยู่ในฮีตในฮอย หวังก่อร่างสร้างตั๋ว เข้าของเงินทองจ่งไจ้เขียมนักอีนางเฮย ปี้อ้ายขอลาไกล๋ไปแสวงหาเงินทองของหมั้น แล้วจะฝั้งปิ๊กมาหา ยกยอเอาสู่เจ้าเป็นเมียนางจ้างแก้วสาวเจ้าหันดีหันงาม เข้าใจ๋ในเหตุในผล… “ไปเต๊อะปี้อ้ายเหย ข้าเจ้าจะรอ”…จากวันเป๋นเดือน จากเดือนล่วงเลยเป๋นหล๋ายปี๋ ปี้อ้ายคนดี ห่างหาย บ่ามีข่าวมีคราว แต่ด้วยใจ๋ตี่บริสุทธิ์และเปี่ยมด้วยศรัทธา ยึดมั่นถือมั่นในความฮักของสาวเจ้าแม้แต่ปล๋ายก้อย ก็บ่เกยคิดฮ้าย ว่าปี้อ้ายคนดีจะนอกใจ๋ หรือล้มหายต๋ายจาก รอคอยด้วยใจ๋พิสุทธิ์ ยกมือไหว้สาผาธนาคุณผะเจ้า ช่วยชี้แนะนำตาง หื้อปี้อ้ายได้ปิ๊กคืน…จ๋นถึงวันเวลาที่นางต้องลาละสังขาร จิตวิญญาณยังผูกพันรอคอย ต๋ายไปแล้ว กล๋ายเป็นหมอกควันไปเกาะ ห่อหุ้ม แฝงจิตอยู่กับต้นดอกเอื้องแซะ เป๋นขนปุยห่อหุ้มกิ่งก้าน ยามเอื้องแซะดอกน้อยบาน กลิ่นหอมอ่อน ๆ จะลอยมาต๋ามลม เหมือนจะได้มาเหน็บแซมเสียบผมยามลมเดือนห้า เอื้องแซะงามนัก ดอกน้อยสีขาวรื่นเหลืองอยู่สูงและเป็นของสูงก้าแปงเมืองหายากยิ่งนัก กลิ่นก่อห้อม..ต้องใจ๋ จาวลัวะแต่โบราณนำเอามาเป็นเครื่องบรรณาการถวายแด่เจ้าครองเมือง คนต่ำใต้ลุ่มฟ้า อย่าหมายว่าจะได้ชม ดั่งถ้อยคำกล่าวเว้าวาจ๋า ระหว่างเจ้าจันทร์ผมหอมกับป้อเลี้ยงคนปะหล่องต่องสู ว่า “ขอข้าได้เหน็บเอื้องแซะ กับเกศเกล้าเกศา ของเจ้าจันทร์ซักเตี้ยเต๊อะ” เจ้าคนงามอ้ำอึ้งอึกอัก นึกไปถึงคนฮัก เจ้าหล้าอินทะ “เกล้าเกลี้ยงผมมวยนี้ เจ้าปี้เกยเหน็บเอื้องผึ้งหื้อแล้ว” ป้อเลี้ยงคนปะหล่อง จงสายต๋าเข้าใส่ ดั่งดาบกล้าคมปราบ มันอู้ขึ้นว่า “ถ้าเป็นเจ้าหล้า เจ้าจันทร์ก็คงจะเอียงหน้าเข้าหาแล้วละเนาะ” เจ้าจันทร์เลือดขึ้นหน้า “ แม่นแล้ว เจ้าหล้ากับสู เปรียบเทียบกั๋นบ่ได้ดอกป้อเลี้ยง เกล้านี้เฮาเกยเอียงหาเจ้าหล้ามาแล้ว ดอกเอื้องคำ เจ้าหล้าเกยเหน็บแซมเสียบผม เฮาแล้ว”… ”ดอกเอื้องคำ เฮอะ..ดอกเอื้องคำ” ต๋าของคนปะหล่องต๋าเหมือนดาวแฝงหมอก บ่เกยอ่านชัดกู้นั้นพลันแหวกหมอกออก ต่างแต่เป็นดาวรังควานบาปเคราะห์บ่แม่นดาวดีฝ่ายกุศลก้ำจ่วย มันว่าต่อว่า “ต่ำต้อยสามัญแต๊นักดอกเอื้องคำ เอื้องแซะอยู่สูงบ่เหน็บ ไปเหน็บเอื้องคำ” อ. มาลา คำจันทร์ ปราชญ์ล้านนา และกวีซีไรต์ ได้กล่าวถึงความสำคัญของเอื้องแซะที่มีต่อวิถีชีวิตของคนล้านนา ว่า ดอกเอื้องแซะนั้นเป็นของสูง หายาก ต้องใช้ความพยายาม นาน ๆ ถึงจะได้เห็น ดังในสมัย รัชกาลที่ 7 เสด็จประพาสเมืองเชียงใหม่ ชาวลัวะชาวดอย ต่างไปหา เอื้องแซะมาถวาย เพราะเป็นเอื้องที่มีกลิ่นหอมนาน ไม่เหมือนเอื้องทั่วไป สำหรับในเรื่องเจ้าจันทร์ผมหอมนั้น อ.มาลา คำจันทร์ ได้นำไปผูกไว้ในเรื่องเพื่อ ให้เห็นถึงความพยายามของพ่อเลี้ยงที่เสมือนคนต่ำต้อย เจ้าจันทร์นั้นเปรียบเสมือนเป็นของสูงดังเช่นเอื้องแซะ แต่พ่อเลี้ยงคนปะล่องก็พยายามจะนำมาเชยชมให้ได้ด้วยวิธีการที่สุจริตถูกต้องด้วยทำนองคลองธรรม สำหรับเอื้องคำที่เจ้าหล้าเคยเหน็บแซมเสียบผมเจ้าจันทร์นั้นก็เปรียบเสมือน เป็นสัญลักษณ์กลาย ๆ ว่าเจ้าหล้าถึงจะเป็นเจ้าจริง แต่เป็นเพียง “บะเต้าปลายเครือ บ่าแต๋งปลายเถา” ยศถาบรรดาศักดิ์ รวมทั้ง ทรัพย์สมบัติอาจมีไม่มาก ให้เจ้าจันทร์ได้แต่สิ่งที่ธรรมดาสามัญทั่วไปที่ใคร ๆ ก็มีได้ แต่ก่อนไม่มีใครกล้าเด็ด เอื้องแซะ เพราะถือว่าเป็นของสูง เป็นของสำหรับเจ้า เป็นของพุทธบูชา ไม่มีใครกล้านำมาปลูกมาเลี้ยง เพราะปลูกยาก ดูแลยากประการหนึ่งด้วย แต่ในปัจจุบันนี้ไม่มีเจ้าไม่มีนายเหมือนแต่ก่อน คนรุ่นใหม่ใครใคร่ได้ก็เด็ดมาเชยชม เอามาเป็นของตนเองจนได้ บางครั้งก็ไม่ได้คำนึงถึงกติกากฎเกณฑ์ของสังคมแต่อย่างใด นอกจากนี้แล้วเอื้องแซะยังเคยใช้เป็นเครื่องบรรณาการ ระหว่างแม่ฮ่องสอนสู่เมืองเชียงใหม่ และเป็นเครื่องบรรณาการของล้านนาเพื่อมอบให้แก่กรุงรัตนโกสินทร์ ดังนั้นเอื้องแซะจึงเป็นสัญลักษณ์ที่ลึกลับ มีเสน่ห์ เป็นดอกไม้ต้องห้าม เป็นของสูงบนภูสูง . กลีบขาวนวล กลิ่นเย้ายวน ชวนใฝ่ฝัน มั่นฟ้า เอื้องแซะงาม ก่อความฮักมา ดั่งกำสัญญา ว่าใจ๋หนอรอคอย ศรัทธาข้าน้อย รอคอย คอยหา กำมั่นสัญญา บ่ลาร้างห่างไกล เอื้องขาวเจ้าเย้ายวน กลิ่นอวลชวนเชย ความฮักเอย หื้อมาแนบทรวง วิญญาฮักตี้ผิดหวัง ยังรอโอบอุ้ม อุ้มชู ผู้บูชาฮักแต้ แน่จงสมใจ๋ วิญญาฮักตี้ผิดหวัง ยังรอโอบอุ้ม อุ้มชู ผู้บูชาฮักแต้ แน่จงสมใจ๋.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น