ดอกเอื้องคำ


เอื้องคำ เอื้องผึ้ง ดอกเอื้องงามปี๋ใหม่เมือง

ในยามคิมหันตฤดูที่สภาพอากาศร้อนอบอ้าวยามนี้ กลับมีดอกเอื้องสีเหลืองทองผลิดอกออกช่อให้ได้เชยชมอย่างงดงามทั่วไปในแถบพื้นถิ่นเมืองเหนือเหมือนดั่งเป็นสัญลักษณ์ให้รู้ว่าช่วงของเทศกาลปี๋ใหม่เมืองหรือเทศกาลสงกรานต์ได้เริ่มขึ้นแล้ว แม้ทั้งเอื้องคำและเอื้องผึ้งจะพบค่อนข้างมาก แต่ก็มีจำนวนลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งตามบ้านเรือนในภาคเหนือมักจะนิยมนำมาปลูกประดับกันอย่างแพร่หลาย และไม่เพียงแต่สีสันของช่อดอกที่สวยสะดุดตาเท่านั้น ทั้งดอกเอื้องคำและดอกเอื้องผึ้ง ยังมีกลิ่นหอมอันชวนให้ได้หลงใหลในเสน่ห์ของกล้วยไม้เมืองเหนือ แม้ในยามนี้สภาพอากาศจะร้อนยิ่งเพียงใด หากได้เชยชมความงดงาม และได้กลิ่นหอมอ่อนๆ ของกล้วยไม้ทั้งสองแล้วไซร้ สภาพอากาศที่ร้อนคงคลายบรรเทาลงได้อย่างมากทีเดียวเชียว
    ในช่วงเทศกาลปี๋ใหม่เมืองนั้นมีกิจกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตคนเมืองอย่างหลากหลาย  อาทิการไปทำบุญที่วัด การไปสระเกล้าดำหัวผู้อาวุโสที่ตนเคารพนับถือ ตลอดจนการจัดงานรื่นเริงสนุกสนานต่างๆ ในช่วงเทศกาลปี๋ใหม่เมือง เอกลักษณ์ที่โดดเด่นอย่างหนึ่งที่สืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น คือการแต่งกายของผู้หญิงชาวเหนือที่มีความงดงามและเข้ากันได้เป็นอย่างดีกับธรรมชาติ โดยจะเห็นได้จากความงามของช่อดอกกล้วยไม้สีเหลืองทองของดอกเอื้องคำหรือดอกเอื้องผึ้งทั้งช่อที่นำมาสอดแซมประดับเกล้ามวยผม สีเหลืองทองที่ตัดกับสีดำเงางามของเกล้ามวยผมสูงค่อนไปทางกระหม่อมของหญิงสาวหรือผมสีขาวดอกเลาของหญิงสูงวัยที่จะมุ่นมวยต่ำค่อนไปทางท้ายทอย ก็ทำให้ช่อระย้าของดอกเอื้องงามสีเหลืองทองทั้งสองชนิดนั้นแลดูโดดเด่นและสง่างามยิ่งนัก กลิ่นหอมอ่อนๆ ของดอกเอื้องคำและดอกเอื้องผึ้ง ทำให้ผู้ที่ได้กลิ่นนั้นหลงใหลในมนต์เสน่ห์ของกล้วยไม้ที่ทั้งงดงาม และหอมหวลมิได้ต่างกับเสน่ห์ของแม่หญิงชาวเหนือแม้แต่น้อยเลย ส่วนการแต่งกายของช่างฟ้อนนางรำที่ได้แซมเกล้ามวยผมด้วยช่อดอกกล้วยไม้สีเหลืองทองอย่างเอื้องคำและเอื้องผึ้งนั้น ในท่วงทำนองขณะที่ฟ้อนรำ ดอกกล้วยไม้ที่ทิ้งช่อระย้าห้อยจากมวยผมก็จะพลิ้วไหว ตามจังหวะของท่วงท่าและลีลาในการฟ้อนรำอย่างงดงามและอ่อนช้อย ตามแบบฉบับศิลปวัฒนธรรมของคนพื้นถิ่นเมืองเหนือที่แสดงให้เห็นถึงความงดงาม และเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติได้อย่างลงตัว
    ดอกเอื้องคำ และดอกเอื้องผึ้งนอกจากจะใช้สอดแซมเกล้ามวยผมของผู้หญิงชาวเหนือเพื่อความสวยงามตามที่ผู้คนส่วนใหญ่เข้าใจแล้ว ยังช่วยให้เรือนผมนั้นมีกลิ่นหอมจรุงของกล้วยไม้ชนิดนั้นๆ อีกด้วย แต่ความหมายที่ลึกซึ้งไปกว่านั้นกลับเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อเรื่องขวัญ ของคนในกลุ่มชาติตระกูลไต-ลาว ที่มีความเชื่อว่ามนุษย์มีขวัญอยู่ ๓๒ ขวัญ (อ. มาณพ มานะแซม) กระจายสถิตอยู่ตามเรือนร่างกายของมนุษย์ ดังนั้นการประดับดอกไม้ที่มีความงดงามและมีกลิ่นหอมจึงเป็นการบูชาขวัญที่สถิตอยู่บนกระหม่อม เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตัวเอง และยามใดเมื่อจะไปวัดในวันพระผู้หญิงที่เกล้ามวยผมจะเหน็บดอกไม้กันถ้วนหน้า คนแม่แจ่ม (จังหวัดเชียงใหม่) บอกว่า “เหน็บดอกไม้นี้เพื่อบูชาหัว และเพื่อจะก้มกราบบูชาพระพุทธเจ้าอีกด้วย” (บทความโดย วิหคพลัดถิ่น) นอกจากนี้ชาวเหนือยังนิยมนำดอกเอื้องคำและดอกเอื้องผึ้งไปถวายพระเพื่อเป็นพุทธบูชา อาจเนื่องจากมีสีที่เป็นมงคลเช่นเดียวกับสีจีวรของพระสงฆ์ สีเหลืองที่สุกสว่างดั่งทองคำนั้น ทำให้มีความเชื่อในเรื่องของโชคลาภมั่งมีเงินทอง และคติความเชื่อที่ว่าการถวายดอกไม้สดที่มีกลิ่นหอม ย่อมได้อานิสงส์แห่งการอามิสบูชามากกว่าการถวายดอกไม้สดที่ไม่มีกลิ่น และผู้บูชาด้วยดอกไม้สีสันสวยงามที่มีกลิ่นหอม และเป็นดอกไม้แรกแย้มแล้ว มีความเชื่อว่าเมื่อคราวจะได้อะไรก็จะได้แต่ของที่ใหม่สดเสมอ ไม่เป็นมือสองรองจากใคร ดุจดั่งตาเฒ่าชูชกผู้มีอายุแก่คราวปู่ได้นางอมิตดาซึ่งเป็นสาวแรกรุ่นมาเป็นเมียดังนั้น และความเชื่ออีกประการหนึ่งนั้นเชื่อว่าถ้าถวายดอกกล้วยไม้เป็นพุทธบูชาแล้วจะทำการสิ่งใดก็จะมีความราบรื่น สำเร็จเรียบร้อยสมตามความมุ่งมาดปรารถนา



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น